วันอังคารที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2558

คลื่นความร้อนประเทศอินเดีย 2558

   เดือนพฤษภาคม ปี 2558 หลายพื้นที่ของประเทศอินเดียเผชิญกับคลื่นความร้อน ทำให้บางพื้นที่ เช่น เมืองอัลลาฮาบัด ในรัฐอุตตรประเทศ มีอุณหภูมิพุ่งสูงถึง 48 องศาเซลเซียส  เมื่อเสาร์ที่ 23 พ.ค.58 ทำให้อินเดียมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน จากคลื่นความร้อนในปีนี้


   สาเหตุที่อินเดียเผชิญกับคลื่นความร้อน เพราะเป็นฤดูร้อนของอินเดีย ดวงอาทิตย์จะมีตั้งฉากโดยเฉพาะบริเวณทางตอนเหนือ ทำให้รับพลังงานความร้อนได้เต็มที่ ประกอบกับภูมิประเทศของอินเดียเป็นที่ราบสูง และมีภูเขาตั้งอยู่ตามแนวชายฝั่ง ทำให้บังลมจากทะเลที่จะพัดเข้ามาช่วยคลายความร้อน ตอนกลางของประเทศจึงสะสมความร้อนได้ดีและเกิดเป็นคลื่นความร้อน


   ปรากฏการณ์เอลนีโญก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้อินเดียมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ (ปกติฤดูร้อนอินเดียอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 44-45 องศาสเซลเซียส - สุรพงษ์ สารปะ หัวหน้าเวรพยากรณ์อากาศ) เพราะทำให้ฝนและความชื้นมีน้อย 

   
   (ร้อนถึงขนาดทางม้าลายละลาย, พ.ค.58) ประเทศไทยมีโอกาสที่จะเกิดคลื่นความร้อนแบบอินเดียได้หรือไม่? .. คงเป็นไปได้ยาก เพราะประเทศไทยมีพื้นที่น้อยกว่าอินเดีย และอยู่ติดทะเล มีลมพัดเข้ามาโดยเฉพาะช่วงเย็นและค่ำ ทำให้ไม่เกิดการสะสมความร้อน และเกิดเป็นคลื่นความร้อนแบบอินเดีย (อุณหภูมิสูงสุดของประเทศไทยที่มีการบันทึกไว้ คือ 44.5 องศาเซลเซียส เมื่อปี 2503 ที่ จ.อุตรดิตถ์)

วันจันทร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2558

สถานการณ์หมอกควันภาคเหนือ 16 มีนาคม 2558

    สถานการณ์หมอกควัน 10 จังหวัดภาคเหนือตอนบน วันที่ 16 มีนาคม 2558 เวลา 16.00 น. มี 9 จากทั้งหมด 10 จังหวัด มีปัญหาเรื่องของคุณภาพอากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ส่วนใหญ่มีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กหว่า 10 ไมครอน เฉลี่ย 24 ชม. เกินค่ามาตรฐาน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

                                                                               ที่มา-กรมควบคุมมลพิษ


    ปัจจัยที่ทำให้เกิดหมอกควันในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคเหนือ คือ ส่วนใหญ่เกิดจากไฟป่า และ การเผาในพื้นที่เกษตรกรรม หรือ การเผาในที่โล่ง (ที่มา-ส่วนควบคุมไฟป่า) เมื่อมาดูจุดที่ดาวเทียมตรวจพบความร้อนซึ่งมีโอกาสเป็นบริเวณที่เกิดไฟไหม้ หรือ Hotspots พบว่า ยังมีจุดความร้อนเกิดขึ้นหลายจุด

(ที่มา-ส่วนควบคุมไฟป่า  16 มี.ค.58  13.15 น.)






   สภาพอากาศเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการสะสมของหมอกควันและปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ วันที่ 16 มี.ค.58 ถ้าดูแผนที่ลมระดับ 5.5 ก.ม.ของศูนย์อุตุนิยมวิทยาทะเล วันที่ 16 มีนาคม 2558 เวลา 19.00 น. จะเห็นว่า ลมพัดวนตามเข็มนาฬิกา การพัดวนแบบนี้หมายความว่า อากาศจมตัวทำให้กดไม่ให้อากาศร้อน ฝุ่น หมอกควัน ด้านล่าง สามารถลอยตัวขึ้นไปยังด้านบนได้ ประกอบกับภูมิประเทศของภาคเหนือเป็นลักษณะหุบเขา แอ่งกะทะ ทำให้เกิดการสะสมของหมอกควัน และ ฝุ่นละอองได้ง่าย


    สาเหตุที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กมากที่สุด (ณ เวลา 17.00 น. 331 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) นอกจากจะเกิดจากการเผาในพื้นที่ สภาพอากาศ และภูมิประเทศ นายชัญชาญ สิทธิวรนันท์ นักอุตุนิยมวิทยาชำนาญการ สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา บอกว่า ทีลมตะวันตกพัดเข้ามาที่แม่ฮ่องสอน (ความเห็นส่วนตัว: จึงอาจเป็นไปได้ที่จะพาหมอกควันจากเมียนมาร์เข้ามาด้วย)

วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ความกดอากาศสูง และ ความกดอากาศต่ำ

     ความกดอากาศสูง (High Pressure Area ) คือ บริเวณที่มีความกดอากาศสูงกว่าบริเวณใกล้เคียงที่อยู่รอบๆ บริเวณที่มีความกดอากาศสูง อากาศจะจมตัว ท้องฟ้าแจ่มใส และ อากาศหนาวเย็น กระแสลมจะพัดออกจากศูนย์กลางในทิศทางตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ และในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้ แต่อาจมีเมฆมากกับมีฝนได้ตามขอบของบริเวณความกดอากาศสูง หรือแอนติไซโคลนที่อยู่ใกล้กับแนวปะทะอากาศ

                                                      ขอบคุณภาพจาก www.gotoknow.org

     ความกดอากาศต่ำ (Low Pressure Area) คือ บริเวณที่มีความกดอากาศต่ำกว่าบริเวณใกล้เคียงที่อยู่รอบๆ บริเวณความกดอากาศต่ำนี้จะมีกระแสลมพัดเข้าหาศูนย์กลางในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ และในทิศทางตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้ การเคลื่อนไหวของอากาศรอบศูนย์กลางบริเวณความกดอากาศต่ำเช่นนี้ เรียกว่า Cyclonic Circulation ตามปกติในบริเวณความกดอากาศต่ำจะมีเมฆมากและมีฝนตกด้วย ถ้าอยู่ในทะเลหากมีความกดอากาศต่ำมากๆจะเป็นพายุดีเปรสชั่น - พายุโซนร้อน - พายุไต้ฝุ่น ต่อไป

                                                      ขอบคุณภาพจาก www.gotoknow.org

     ในแผนที่อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา จะแสดงบริเวณความกดอากาศสูง-ต่ำ ด้วยสัญลักษณ์ H (ความกดอากาศสูง) และ L (ความกดอากาศต่่ำ)

                                                                   ขอบคุณภาพจาก กรมอุตุนิยมวิทยา
   
     เส้นยาวๆที่เห็นในแผนที่อากาศนี้คือ เส้นไอโซบาร์ เป็นเส้นที่ลากผ่านจุดที่มีความกดอากาศเท่ากัน หากเส้นไอโซบาร์อยู่ชิดกัน แสดงว่า ความกดอากาศเหนือบริเวณนั้นมีความแตกต่างกันมาก หรือมีแรงเกรเดียนมาก จึงมี ลมพัดแรง แต่ถ้าเส้นไอโซบาร์อยู่ห่างกันแสดงว่า ความกดอากาศเหนือบริเวณนั้นมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย  หรือมีแรงเกรเดียนน้อย  แสดงว่ามี ลมพัดอ่อน 

     แนวราบ อากาศจะเคลื่อนตัวจากหย่อมความกดอากาศสูง (H) ไปยังหย่อมความกดอากาศต่ำ (L) ทำให้เกิดการกระจายและหมุนเวียนอากาศไปยังตำแหน่งต่างๆ บนผิวโลก เราเรียกอากาศซึ่งเคลื่อนตัวในแนวราบว่า “ลม” (Wind)

   

วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

ฝนหลังเลิกงาน

   เป็นฝนที่เกิดจากการพาความร้อน (Convective Rain) เนื่องจากในเวลากลางวันพื้นดินได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ ทำให้อากาศผิวพื้นร้อน(มีความชื้น) อากาศขยายตัว ความกดอากาศจึงต่ำ ทำให้ลอยตัวขึ้นไปยังด้านบน เมื่ออากาศร้อนลอยตัวขึ้นไปจะเจอกับอากาศเย็น และหากอากาศเย็นลงจนถึงจุดน้ำค้าง หรือ Dew Point จะทำให้ไอน้ำกลายเป็นหยดน้ำเล็กๆ เกิดเป็นเมฆ และเมื่อหยดน้ำเหล่านี้มีขนาดใหญ่ขึ้น เกินกว่าที่กระแสลมจะพยุงเอาไว้ก็จะตกลงมาเป็นฝน

   รูปแบบฝนที่เกิดจากการพาความร้อน (Convective Rain) 


   ฝนแบบนี้อาจจะตกเป็นแห่งๆได้ทุกวันตลอดหน้าฝน คือ ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศในประเทศไทยมีความชื้นมาก เพราะมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านมหาสมุทรอินเดียและนำความชื้นเข้ามาด้วย (แต่จริงๆแล้วฝนที่เกิดจากการพาความร้อนไม่จำเป็นต้องตกหลังเลิกงานเสมอไปนะครับ)

ขอบคุณข้อมูลจาก รู้ทัน ฝนฟ้า อากาศ (ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ)

วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

คลื่นกระแสลมตะวันตก


   คลื่นกระแสลมตะวันตกเกิดที่ระดับบนคือ 5.5 กม. ถึง 12 กม. มีรูปร่างคล้ายคลื่น ลมนี้จะไม่สัมผัสร่างกายของคน แต่คลื่นกระแสลมตะวันตกจะเหนี่ยวนำหรือดึงดูดให้อากาศผิวพื้นลอยตัวขึ้นไปด้านบน และเนื่องจากโลกหมุนทำให้เกิดแรงโคริออลิส ลมจึงหมุนทวนเข็มนาฬิกาทำให้เกิดการก่อตัวของเมฆในแนวตั้ง ทำให้เกิดเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือ เมฆคิวมูโลนิมบัส แต่เมฆหรือฝนจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับอากาศผิวพื้นถ้ามีความชื้นเพียงพอ ก็จะทำให้เกิดเมฆและฝน โดยเฉพาะฝนฟ้าคะนองในบางพื้นที่ 



   ฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณด้านหน้าของคลื่น แต่เมื่อคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนผ่านไปอากาศด้านหลังคลื่นจะมีลักษณะจมตัว ทำให้อุณหภูมิจะลดลง และท้องฟ้าปลอดโปร่ง


ขอบคุณความรู้จาก

ดร.วัฒนา กันบัว ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาทะเล
ประวิทย์ แจ่มปัญญา ผอ.สำนักพยากรณ์อากาศ



น้ำค้างแข็ง และ แม่คะนิ้ง(เหมยขาบ)


น้ำค้างแข็ง

   เกิดจากไอน้ำใกล้พื้นดินเจอกับอากาศเย็น แต่เพราะอากาศเย็นไม่พอไอน้ำจึงกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเกาะบนใบไม้ ใบหญ้า และเมื่ออุณหภูมิลดลง(เรื่อยๆ) ต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง หรือ ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ทำให้หยดน้ำจับตัวเป็นก้อนน้ำแข็งบนใบไม้ อุณหภูมิที่ลดลงต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส อาจเกิดจากลมที่พัดเอาอากาศหนาวเย็นเข้ามา



แม่คะนิ้ง(ภาษาอีสาน) หรือ เหมยขาบ(ภาษาเหนือ)  

   เกิดจากไอน้ำในอากาศใกล้พื้นดิน เช่น ไอน้ำจากใบไม้ ต้นไม้ เจอกับอากาศเย็นจัด ทำให้ไอน้ำ(ของเหลว) เปลี่ยนเป็น เกร็ดน้ำแข็ง(ของแข็ง) บนผิวของวัตถุต่างๆโดยตรงเนื่องจากอากาศหนาวเย็นจัด โดยไม่กลั่นตัวเป็นหยดน้ำ มีลักษณะเป็นผลึกน้ำแข็งที่มีลักษณะเป็นเกล็ด เข็ม หรือ พัด



                                                                           **ขอบคุณภาพจากผู้จัดการออนไลน์


ความแตกต่างของ น้ำค้างแข็ง และ แม่คะนิ้ง


                                                                     **ขอบคุณภาพจาก ชมรมคนรักมวลเมฆ (อ.บัญชา)