ความกดอากาศสูง (High Pressure Area ) คือ บริเวณที่มีความกดอากาศสูงกว่าบริเวณใกล้เคียงที่อยู่รอบๆ บริเวณที่มีความกดอากาศสูง อากาศจะจมตัว ท้องฟ้าแจ่มใส และ อากาศหนาวเย็น กระแสลมจะพัดออกจากศูนย์กลางในทิศทางตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ และในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้ แต่อาจมีเมฆมากกับมีฝนได้ตามขอบของบริเวณความกดอากาศสูง หรือแอนติไซโคลนที่อยู่ใกล้กับแนวปะทะอากาศ
ขอบคุณภาพจาก www.gotoknow.org
ความกดอากาศต่ำ (Low Pressure Area) คือ บริเวณที่มีความกดอากาศต่ำกว่าบริเวณใกล้เคียงที่อยู่รอบๆ บริเวณความกดอากาศต่ำนี้จะมีกระแสลมพัดเข้าหาศูนย์กลางในทิศทางทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ และในทิศทางตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้ การเคลื่อนไหวของอากาศรอบศูนย์กลางบริเวณความกดอากาศต่ำเช่นนี้ เรียกว่า Cyclonic Circulation ตามปกติในบริเวณความกดอากาศต่ำจะมีเมฆมากและมีฝนตกด้วย ถ้าอยู่ในทะเลหากมีความกดอากาศต่ำมากๆจะเป็นพายุดีเปรสชั่น - พายุโซนร้อน - พายุไต้ฝุ่น ต่อไป
ขอบคุณภาพจาก www.gotoknow.org
ในแผนที่อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา จะแสดงบริเวณความกดอากาศสูง-ต่ำ ด้วยสัญลักษณ์ H (ความกดอากาศสูง) และ L (ความกดอากาศต่่ำ)
ขอบคุณภาพจาก กรมอุตุนิยมวิทยา
เส้นยาวๆที่เห็นในแผนที่อากาศนี้คือ เส้นไอโซบาร์ เป็นเส้นที่ลากผ่านจุดที่มีความกดอากาศเท่ากัน หากเส้นไอโซบาร์อยู่ชิดกัน แสดงว่า ความกดอากาศเหนือบริเวณนั้นมีความแตกต่างกันมาก หรือมีแรงเกรเดียนมาก จึงมี ลมพัดแรง แต่ถ้าเส้นไอโซบาร์อยู่ห่างกันแสดงว่า ความกดอากาศเหนือบริเวณนั้นมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย หรือมีแรงเกรเดียนน้อย แสดงว่ามี ลมพัดอ่อน
แนวราบ อากาศจะเคลื่อนตัวจากหย่อมความกดอากาศสูง (H) ไปยังหย่อมความกดอากาศต่ำ (L) ทำให้เกิดการกระจายและหมุนเวียนอากาศไปยังตำแหน่งต่างๆ บนผิวโลก เราเรียกอากาศซึ่งเคลื่อนตัวในแนวราบว่า “ลม” (Wind)
วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
วันพุธที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
ฝนหลังเลิกงาน
เป็นฝนที่เกิดจากการพาความร้อน (Convective Rain) เนื่องจากในเวลากลางวันพื้นดินได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ ทำให้อากาศผิวพื้นร้อน(มีความชื้น) อากาศขยายตัว ความกดอากาศจึงต่ำ ทำให้ลอยตัวขึ้นไปยังด้านบน เมื่ออากาศร้อนลอยตัวขึ้นไปจะเจอกับอากาศเย็น และหากอากาศเย็นลงจนถึงจุดน้ำค้าง หรือ Dew Point จะทำให้ไอน้ำกลายเป็นหยดน้ำเล็กๆ เกิดเป็นเมฆ และเมื่อหยดน้ำเหล่านี้มีขนาดใหญ่ขึ้น เกินกว่าที่กระแสลมจะพยุงเอาไว้ก็จะตกลงมาเป็นฝน
รูปแบบฝนที่เกิดจากการพาความร้อน (Convective Rain)
ฝนแบบนี้อาจจะตกเป็นแห่งๆได้ทุกวันตลอดหน้าฝน คือ ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่อากาศในประเทศไทยมีความชื้นมาก เพราะมีมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านมหาสมุทรอินเดียและนำความชื้นเข้ามาด้วย (แต่จริงๆแล้วฝนที่เกิดจากการพาความร้อนไม่จำเป็นต้องตกหลังเลิกงานเสมอไปนะครับ)
ขอบคุณข้อมูลจาก รู้ทัน ฝนฟ้า อากาศ (ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ)
วันอังคารที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558
คลื่นกระแสลมตะวันตก
คลื่นกระแสลมตะวันตกเกิดที่ระดับบนคือ 5.5 กม. ถึง 12 กม. มีรูปร่างคล้ายคลื่น ลมนี้จะไม่สัมผัสร่างกายของคน แต่คลื่นกระแสลมตะวันตกจะเหนี่ยวนำหรือดึงดูดให้อากาศผิวพื้นลอยตัวขึ้นไปด้านบน และเนื่องจากโลกหมุนทำให้เกิดแรงโคริออลิส ลมจึงหมุนทวนเข็มนาฬิกาทำให้เกิดการก่อตัวของเมฆในแนวตั้ง ทำให้เกิดเมฆฝนฟ้าคะนอง หรือ เมฆคิวมูโลนิมบัส แต่เมฆหรือฝนจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับอากาศผิวพื้นถ้ามีความชื้นเพียงพอ ก็จะทำให้เกิดเมฆและฝน โดยเฉพาะฝนฟ้าคะนองในบางพื้นที่
ฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณด้านหน้าของคลื่น แต่เมื่อคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนผ่านไปอากาศด้านหลังคลื่นจะมีลักษณะจมตัว ทำให้อุณหภูมิจะลดลง และท้องฟ้าปลอดโปร่ง
ขอบคุณความรู้จาก
ดร.วัฒนา กันบัว ผอ.ศูนย์อุตุนิยมวิทยาทะเล
ประวิทย์ แจ่มปัญญา ผอ.สำนักพยากรณ์อากาศ
น้ำค้างแข็ง และ แม่คะนิ้ง(เหมยขาบ)
น้ำค้างแข็ง
เกิดจากไอน้ำใกล้พื้นดินเจอกับอากาศเย็น แต่เพราะอากาศเย็นไม่พอไอน้ำจึงกลั่นตัวเป็นหยดน้ำเกาะบนใบไม้ ใบหญ้า และเมื่ออุณหภูมิลดลง(เรื่อยๆ) ต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง หรือ ต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส ทำให้หยดน้ำจับตัวเป็นก้อนน้ำแข็งบนใบไม้ อุณหภูมิที่ลดลงต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส อาจเกิดจากลมที่พัดเอาอากาศหนาวเย็นเข้ามา
แม่คะนิ้ง(ภาษาอีสาน) หรือ เหมยขาบ(ภาษาเหนือ)
เกิดจากไอน้ำในอากาศใกล้พื้นดิน เช่น ไอน้ำจากใบไม้ ต้นไม้ เจอกับอากาศเย็นจัด ทำให้ไอน้ำ(ของเหลว) เปลี่ยนเป็น เกร็ดน้ำแข็ง(ของแข็ง) บนผิวของวัตถุต่างๆโดยตรงเนื่องจากอากาศหนาวเย็นจัด โดยไม่กลั่นตัวเป็นหยดน้ำ มีลักษณะเป็นผลึกน้ำแข็งที่มีลักษณะเป็นเกล็ด เข็ม หรือ พัด
**ขอบคุณภาพจากผู้จัดการออนไลน์
ความแตกต่างของ น้ำค้างแข็ง และ แม่คะนิ้ง
**ขอบคุณภาพจาก ชมรมคนรักมวลเมฆ (อ.บัญชา)
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)